พาไปวัด
เราจะพาทุกท่านมาทำบุญกันที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยากันนะคะ ที่อยุธยานี้มีเสน่ห์ที่ดึงดูดให้กลับมาได้ทุกสัปดาห์เลยทีเดียว
วัดที่เรามาทำบุญกันนั้นคือ วัดประดู่ทรงธรรม ค่ะ วัดประดู่ทรงธรรมนั้นเป็นวัดที่มีความสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังที่ได้ถูกกล่าวถึงในพระราชพงศาวดาร ว่าพระภิกษุสงฆ์ของวัดประดู่ 8 รูป ได้ให้การช่วยเหลือพระเจ้าทรงธรรมซึ่งเป็นกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น หลบหนีจากการก่อกบฏของพวกญี่ปุ่นที่หมายปลงพระชนม์ชีพ อีกทั้งวัดประดู่ทรงธรรมนี้ ก็ยังเป็นที่ออกผนวชและเป็นที่พำนักของพระเจ้าอยู่หัวอุทมพร (ขุนหลวงหาวัด) ก่อนที่พระองค์ถูกกวาดต้อนไปอังวะภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 อีกด้วยค่ะ ภายในวิหารของวัดประดู่ทรงธรรมนั้น มีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ และสวยงาม แม้ว่าจะลบเลือนไปบ้าง แต่ก็ยังสะท้อนความงดงามของศิลปะสมัยอยุธยาได้เป็นอย่างดี และที่วัดนี้ยังมีเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าทรงธรรมอีกด้วยค่ะ
เพื่อนๆท่านใดมาอยุธยาก็ลองแวะเข้ามาที่วัดประดู่ทรงธรรมนะคะ วัดเงียบสงบ ไม่พลุกพล่าน มาช่วยกันทำบุญ และร่วมกันอนุรักษ์โบราณสถานโบราณวัตถุของวัดให้ยังคงอยู่สืบต่อไปกันค่ะ
วัดประดู่ทรงธรรม ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ อยู่ระหว่างตำบลไผ่ลิง และตำบลหันตราในเขตเมืองเก่าอโยธยา ทางทิศตะวันออกของเกาะเมือง ภูมิประเทศโดยรอบทั่วไปเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ด้านทิศตะวันตกมีลำคูเล็กๆ ที่เชื่อมแม่น้ำป่าสักสายใหม่เข้ามาภายในวัดจนถึงเขตพุทธาวาส มีลักษณะเป็นนทีสีมาล้อมรอบกำแพงแก้ว ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขินมากแล้ว น้ำในสระใช้การไม่ได้เนื่องจากคลองที่เชื่อมมาจากแม่น้ำป่าสัก ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า คลองประดู่ ถูกทำลายไปแล้ว ในพระราชพงศาวดารรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๖๓ ได้กล่าวถึงชื่อ วัดประดู่โรงธรรมเป็นครั้งแรกว่า
“ครั้งนั้นญี่ปุ่นเข้ามาค้าขายหลายลำ ญี่ปุ่นโกรธว่าเสนาบดีมิได้เป็นธรรม คบคิดกันเข้าด้วยพระพิมลธรรมฆ่าพระมหากษัตริย์เสีย ญี่ปุ่นคุมกันได้ประมาณ ๕๐๐ ยกเข้ามาในท้องสนามหลวงคอยจะกุมเอาพระเจ้าอยู่หัว อันเสด็จออกมาฟังพระสงฆ์บอกหนังสือ ณ พระที่นั่งจอมทอง ๓ หลัง ขณะนั้น พอพระสงฆ์วัดประดู่โรงธรรมเข้ามา ๘ รูป พาเอาพระองค์เสด็จออกมาต่อหน้าญี่ปุ่น…” อีกความหนึ่งกล่าวว่า
“แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการให้วิเสทแต่งกัปปิยะจังหันถวายพระสงฆ์ วัดประดู่ เป็นนิตยภัตอัตรา”
ในแผนที่อยุธยาฉบับพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ได้กล่าวถึงบริเวณที่ตั้งวัดประดู่ทรงธรรมว่าเดิมมีวัดประดู่วัดหนึ่งและวัดโรงธรรมอีกวัดหนึ่ง ขื่อและความหมายของวัดประดู่น่าจะมีสาเหตุมาจากที่ตั้งของวัดซึ่งมีไม้ประดู่ขึ้นอยู่จำนวนมาก คงจะไม่ได้หมายความถึงการนำเอาชื่อเจ้าชายประดู่ หรือเจ้าฟ้าอุทุมพร มาตั้งเป็นชื่อวัด น่าที่จะนำชื่อวัดไปตั้งเป็นชื่อเจ้าชายมากกว่า จดหมายเหตุชาวต่างประเทศ “ตุรแปง” ได้กล่าวถึงชื่อของเจ้าชายประดู่ คือเจ้าฟ้าอุทุมพร ได้สละราชสมบัติและมาผนวชอยู่ ณ วัดแห่งนี้
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ - ๕ ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยพระยาโบราณราชธานินทร์ สั่งให้ช่างคัดลอกภาพจิตรกรรมฝาผนังจากวัดยมลงบนสมุดข่อยนำมาเขียนลงในวิหารวัดประดู่ทรงธรรมเป็นภาพเรื่อง ไตรภูมิ เทพชุมนุม พุทธประวัติทศชาติชาดก ขบวนช้าง ภาพการละเล่น และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน
อุโบสถของวัดประดู่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เป็นฝีมือช่างอยุธยาตอนปลาย บัวที่ฐานอุโบสถทำเป็นบัวที่มีแข้งสิงห์รองรับสลับเป็นช่วงๆ ไม่ทำยาวตลอด น่าจะเลียนแบบมาจากวัดกุฎีดาว ซึ่งปัจจุบันได้ถูกทางวัดเทปูนทับแข้งสิงห์ที่เป็นฐานหมดแล้วไม่มีร่องรอยเหลือให้เห็นเลย ตัวอุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูทางเข้าเพียงด้านเดียว ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ปิดทอง มีขนาดหน้าตักกว้าง อุโบสถหลังนี้มีลักษณะที่เรียกว่าแบบมหาอุด หน้าบันอุโบสถทำเป็นลายเครือเถา ประดับกระจก
วิหารอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของอุโบสถเป็นวิหารที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในมีภาพเขียน มีประตูทางเข้าทั้งทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ทั้งสองด้านมีประตูทางเข้าด้านละ ๒ บาน บนบานประตู มีร่องรอยของการเขียนภาพลงบนบานประตู แต่ปัจจุบันลบเลือนหมดแล้ว สันนิษฐานว่าวิหารเดิมน่าจะสร้างในสมัยอยุธยาเนื่องด้วยฐานชุกชีที่มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่นั้นเป็นแบบอยุธยาโดยชัดเจน นอกจากนี้ฐานของวิหารด้านนอกมีลวดบัว และใต้ลวดยังมีแข้งสิงห์สลับลายเหมือนกันกับอุโบสถ สมัยในรัชกาลที่ ๔ มีการปฏิสังขรณ์ เครื่องบน และต่อเป็น (พาไล) ยื่นออกมา ภาพเขียนภายในวิหารน่าจะเป็นภาพที่เขียนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และได้มาปฏิสังขรณ์ใหม่ในรัชกาลที่ ๔ ที่เข้าใจเช่นนี้เนื่องด้วยภาพขบวนต่างๆมีบางอย่างคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรมที่วัดยม รายละเอียดของขบวนแห่ที่ว่าคล้ายของวัดยมนั้น เช่น ฉัตร รูปร่างของฉัตร บางคันมีลายตรงระบายคล้ายรวงผึ้งซึ่งเหมือนกัน รูปหมวกหนังของทหารบางกองก็คล้ายหมวกในขบวนทัพที่วัดยม ซึ่งน่าจะเชื่อได้ว่าของเดิมนั้นคงจะมีอยู่มาในรัชกาลที่ ๕ เพียงแต่มาปฏิสังขรณ์แล้วดัดแปลงไปบ้าง น่าเสียดายว่าปัจจุบันอุโบสถวัดยมของเก่าถูกรื้อเสียแล้ว ส่วนภาพจิตรกรรมได้รับการคัดลอกไว้ และสมุดเล่มที่คัดลอกภาพเก็บรักษาอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ ที่ผนังด้านหน้าพระประธาน มีแผ่นจารึกบอกศักราชที่ได้ปฏิสังขรณ์วัดนี้ว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๕ โดยกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ และพระพุทธสร พระประธานภายในวิหารเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยลงรักปิดทอง ๓ องค์ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีเดียวกัน
เพื่อนๆท่านใดมาอยุธยาก็ลองแวะเข้ามาที่วัดประดู่ทรงธรรมนะครับ วัดเงียบสงบ คนไม่พลุกพล่าน มาช่วยกันทำบุญ และร่วมกันอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุของวัดให้ยังคงอยู่สืบต่อไปครับ
ติดตามพาไปวัดได้ที่ :
Facebook : https://www.facebook.com/papaiwatofficial
Instragram : https://www.instagram.com/papaiwatofficial
Twitter : https://twitter.com/papaiwatthai