image

พาไปวัด

image
image

วัดใหญ่สุวรรณาราม

image
วัดใหญ่สุวรรณาราม

            วัดใหญ่สุวรรณาราม ในจังหวัดเพชรบุรี หรือคนพื้นที่เรียกกันติดปากว่า “วัดใหญ่” ถือเป็นหนึ่งในวัดที่มีความสำคัญทั้งในด้านของประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปะของสกุลช่างเมืองเพชรมากมาย ที่สอดแทรกอยู่ทั่วทุกบริเวณภายในวัด เริ่มจากตัวพระอุโบสถที่สร้างขึ้นตามแบบศิลปะอยุธยา ก่ออิฐถือปูนรองรับด้วยฐานปัทม์ที่โค้งเป็นท้องเรือสำเภา แต่ที่น่าแปลกคืออุโบสถแห่งนี้ไม่มีการเจาะช่องหน้าต่างตามแบบนิยมของอยุธยา ภายในประดิษฐานพระประธานปูนปั้นลงรักปิดทองคำแท้ปางมารวิชัยลักษณะงดงาม ด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์บนฐานชั้นล่าง

            ด้านหลังพระประธาน ประดิษฐานพระพุทธรูปมหัศจรรย์ที่เรียกกันว่า "หลวงพ่อหกนิ้ว" หรือ “พระหกนิ้ว” เนื่องจากพระบาทข้างขวาของพระพุทธรูปปรากฎว่ามี 6 นิ้ว ซึ่งมาพร้อมกับความเชื่อที่เล่ากันแบบปากต่อปากนานกว่า 100 ปี ว่าหลวงพ่อหกนิ้ว เป็นพระพุทธรูปที่ศักด์สิทธิ์ สามารถประทานพรให้แก่ผู้ที่มีจิตศรัทธาอย่างแรงกล้า และช่วยให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล

ฝาผนังโดยรอบปรากฎภาพจิตรกรรมรูปเทพชุมนุมเรียงต่อกันถึง 5 ชั้น โดยจุดเด่นอยู่ที่รูปยักษ์ และอมนุษย์ทั้งหลายซึ่งล้วนเป็นหน้าเนื้อ ไม่ได้สวมหัวโขนตามแบบจิตรกรรมที่เห็นได้ทั่วไป

รูปจิตรกรรมฝาผนังเทพชุมนุม พระพรหม 4 หน้า

ช่องประตูที่ 3 ของพระอุโบสถ ที่มีความเชื่อว่า เป็นทางสำหรับให้เทวดาลอยเข้ามาสักการะพระประธาน

รูปเทพทวารบาลบนบานประตูที่ 3 ซึ่งยังคงความงดงาม และสมบูรณ์เป็นอย่างมาก

หน้าบันของอุโบสถถูกแกะสลักเป็นภาพพระพรหมทรงช้างเอราวัณ

ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์

บริเวณรอบพระอุโบสถ มีใบเสมาตั้งอยู่ทั้ง 4 ทิศ

ด้านทิศตะวันออกบริเวณพระอุโบสถ เป็นที่ตั้งของแนวกำแพงแก้วซึ่งทอดยาวต่อมาจากแนวระเบียงคด

            ปรางค์ และเจดีย์บริเวณหน้าพระอุโบสถ สร้างแบบย่อมุมไม้สิบสอง มีส่วนฐานเป็นรูปปูนปั้นปู่ฤๅษี ทั้งสี่ด้าน ส่วนด้านบนเป็นพระพุทธรูปในซุ้มทั้งสี่ด้านเช่นกัน

            ศาลาการเปรียญของวัด มีลักษณะเป็นเรือนทรงไทยโบราณขนาดใหญ่ สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง แต่เดิมเป็นตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือ “พระเจ้าเสือ” แต่ภายหลังพระองค์ได้ทรงรื้อถอนเพื่อมาถวายแด่พระสังฆราชแตงโม ณ วัดใหญ่สุวรรณารามแห่งนี้ ภายในเป็นที่เก็บธรรมาสน์โบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งหาชมได้ยาก

            ศาลาการเปรียญของวัด มีลักษณะเป็นเรือนทรงไทยโบราณขนาดใหญ่ สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง แต่เดิมเป็นตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือ “พระเจ้าเสือ” แต่ภายหลังพระองค์ได้ทรงรื้อถอนเพื่อมาถวายแด่พระสังฆราชแตงโม ณ วัดใหญ่สุวรรณารามแห่งนี้ ภายในเป็นที่เก็บธรรมาสน์โบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งหาชมได้ยาก

ลวดลายแกะสลักบนบานประตูศาลาการเปรียญที่อ่อนช้อยงดงามตามแบบศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย

ร่องรอยของขวานที่ทหารพม่าใช้ฟันบานประตูศาลาการเปรียญ

ธรรมาสน์โบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาธรรมาสน์โบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

            หอเก็บพระไตรปิฏกหลังเก่า มีลักษณะเป็นอาคารไม้ รองรับด้วยเสาที่ทำจากไม้ 3 ต้น ด้วยความเชื่อว่า พระไตรปิฎกประกอบด้วย 3 ปิฎกคือ พระธรรมปิฏก พระไตรปิฏก และพระสุตันตปิฎก

            ในบริเวณหอไตรแห่งนี้ รวมถึงภายในพระอุโบสถยังเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนต์เรื่อง "สุริโยทัย" ในฉากการเดินทางโดยเรือตามแม่น้ำลำคลองผ่านวัด

หน้าบันซุ้มประตูหน้าด้านทิศตะวันออกแกะสลักเป็นรูปครุฑ

            พระพุทธรูปบริเวณระเบียงคด เป็นพระพุทธรูปที่มีผู้นำมาถวาย หลายองค์มีลักษณะพิเศษคือ ห่มจีวรลายพิกุล ซึ่งหาชมได้ยากเพราะการขึ้นลายพิกุลให้ออกมาประณีตละเอียดอ่อนได้จะต้องใช้ส่วนผสมของทองคำบริสุทธิ์สูง เรียกว่าพระมาลัย รวมถึงพระพุทธรูปปางมารวิชัยหลาย 10 องค์ แต่ได้ถูกลักขโมยไปจนเหลือเพียง 6 องค์ ดั่งที่เห็นในปัจจุบัน

            หน้าบันของซุ้มประตูวิหารคดมี 4 ทิศ ประดับลวดลายพร้อมเลข 5 ไทย ไว้เหมือนกันทั้งหมด 4 ด้าน มุมระเบียงคดที่มาบรรจบกันสร้างเป็นซุ้มหลังคาคลุม และมีหน้าบันแบบเดียวกัน ยกเว้นซุ้มประตูด้านหน้าพระอุโบสถ รวมทั้งหมดกว่า 28 จุด

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยพาไปวัด

สิ่งที่ห้ามพลาด
- ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ
- ประตูที่ 3 ของพระอุโบสถ
- หลวงพ่อหกนิ้ว
- รอยฟันบนบานประตูศาลาการเปรียญ
- ธรรมาสน์เก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา
- หอไตรหลังเก่ากลางน้ำ
- พระจุฬามณีเจดีย์
- พระมาลัย
- พระพุทธรูปเชียงแสน
- เลข ๕ กลับด้าน


ข้อควรระวัง : เนื่องจากภายในบริเวณของวัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จึงขอร้องให้ทุกท่านกรุณาทำตามข้อตกลงนี้ด้วย
- แต่งกายให้สุภาพ และมิดชิด คุณผู้หญิงไม่ควรใส่กางเกงขาสั้น หรือกระโปรงที่สั้นเกินไป 
- ไม่ควรส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น 
- ไม่แตะต้องหรือขึ้นไปเดินในบริเวณที่หวงห้ามอย่างเด็ดขาด

การเดินทาง : สำหรับการเดินทางมายังวัดแห่งนี้ เมื่อมาจากกรุงเทพจนเข้าตัวเมืองเพชรบุรีให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 แยกซ้าย จะเจอไฟแดงสามแยกศาลหลักเมืองให้เลี้ยวขวา เจออีกสามแยกไฟแดงให้เลี้ยวซ้าย ตรงตามถนนราชวิถี เมื่อผ่าน 2 ไฟแดง ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเพชรบุรี เลยมาจะเป็นสี่แยกให้เลี้ยวขวา จะเจอสี่แยกไฟแดง ให้เลี้ยวซ้าย ตรงมาอีกประมาณ 300 เมตร จะเห็นวัดอยู่ทางขวามือ

ที่ตั้ง : ถนนพงษ์สุริยา อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 1 กิโลเมตร

เวลาทำการ : ทุกวัน 7.00-17.00 น. (ไม่เสียค่าเข้าชม)

ติดตามพาไปวัดได้ที่ :

Facebook : https://www.facebook.com/papaiwatofficial
Instragram : https://www.instagram.com/papaiwatofficial
Twitter : https://twitter.com/papaiwatthai