พาไปวัด
จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน เป็นมรดกชิ้นเอกของชาวน่าน ที่ขึ้นชื่อเรื่องการวาดภาพที่มีลวดลายอันวิจิตรตามแบบฉบับของชาวไทลื้อดั้งเดิม
จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2410-2417 ในสมัยพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน
(ตรงกับช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5)
ภาพจิตรกรรมนั้น วาดเป็นรูปพุทธประวัติขนาดใหญ่ วาดอยู่บนสุดของฝาผนังสกัดทั้งสี่ด้าน ภาพจิตรกรรมด้านล่างที่ถัดลงมานั้นเป็นการเล่าเรื่องตามชาดก
เรื่อง "คัทธณะกุมาร" ซึ่งเมื่อเราได้พิจารณาจากรูปภาพนั้นจะเห็นว่าศิลปินผู้วาดได้สอดแทรกวิถีชีวิตของคนเมืองน่านในสมัยนั้น
รวมถึงมีการเขียนภาษาล้านนาเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ในช่วงปลายสมัยพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่านสมัยนั้นอีกด้วย
คัทธณะกุมารชาดกนั้น เป็นชาดกที่เล่าเรื่องราวของพระโพธิสัตว์นามว่า "คัทธณะ" มาเกิดเป็นลูกชายของหญิงหม้าย
ซึ่พ่อของคัทธณะนั้นคือพระอินทร์ บนสวรรค์ เมื่อคัทธณะเติบโตขึ้นจึงออกตามหาพ่อ ซึ่งระหว่างการตามหาพ่อนั้นได้สร้างความดี
มีการช่วยเหลือผู้คน และปราบยักษ์ร้ายหลายตนด้วย เราจะเห็นภาพการต่อสู้กับยักษ์ที่มีหน้าตาหลากหลาย บนจิตรกรรมฝาผนังนี้
ซึ่งจิตรกรรมฝาผนังเรื่องคัทธณะกุมารชาดกนี้ พบเฉพาะที่วัดภูมินทร์แห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งช่างผู้วาดนั้นคือ "หนานบัวผัน"
ศิลปินชาวไทยลื้อ ที่มีฝีมือเป็นเอกลักษณ์
แอดมินได้พิจารณาภาพต่างๆที่ศิลปินได้วาดขึ้น ทำให้เราทราบถึงวิถีชีวิตคนน่านในสมัยนั้น ทั้งลักษณะบ้านเรือน การแต่งกาย
การทอผ้าด้วยกี่ทอมือ การสักยันต์ของชาวไทลื้อ หรือ ลาวพุงดำ เราจะเห็นได้ว่าผู้ชายในภาพเปลือยอกเห็นรอยสักหมึกสีดำเต็มตัว
ทั้งแขน ไหล่ หน้าอก พุง ไล่ลงมาจนถึงต้นขา ซึ่งเรามักจะเรียกว่า “ลาวพุงดำ”
เนื่องจากมีรอยสักเต็มทั้งตัว ในภาพจิตรกรรมนั้นปรากฎรูปชาวต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อในเมืองน่านสมัยนั้นซึ่งชาวต่างประเทศนั้น
จะแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายที่แตกต่างจากคนน่านพื้นเมือง รวมถึงมีหน้าต่างที่แตกต่างอย่า ชัดเจน
ภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดของวัดภูมินทร์นั้นก็คือ ภาพ "ปู่ม่านย่าม่าน" หรือที่เรียกกันว่า "กระซิบรัก บันลือโลก" ที่ใครๆก็ต้องมาชม
และมาถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกันที่นี่ เมื่อเราพิจารณาจากรูปปู่ม่านย่าม่านนั้ เราจะเห็นว่าภาพนี้เป็นภาพที่แยหกออกมาเป็นเอกเทศ
ไม่เกี่ยวข้องกับชาดกเรื่องคัทธณะกุมาร แต่อย่างใด เป็นภาพของชายหญิงคู่หนึ่ง โดยบุรุษใช้มือข้างหนึ่งเกาะไหล่สตรี
แล้วมืออีกข้างหนึ่งป้องปากคล้ายกับกระซิบกระซาบที่ข้างหูสตรีผู้นั้นด้วยนัยน์ตากรุ้มกริ่มแฝงไปในเชิงรักใคร่ บุรุษในภาพสักลายตามตัว
ตั้งแต่พุงลามลงมาถึงต้นขาเป็นหมึกสีดำ ขมวดผมไว้กลางกระหม่อมพร้อมผ้าพันผมแบบพม่า นุ่งผ้าลุนตะยา ส่วนสตรีในภาพแต่งกายไทลื้อ
ภาพปู่ม่านย่าม่านนั้น วาดออกมาได้สวยงาม จนมีปราญช์เมืองน่าน ได้แต่งคำกลอนเป็นภาษาเหนือเพื่อบรรยายถ้อยคำกระซิบของปู่ม่านย่าม่านนี้ว่า
“คำฮักน้องกูปี้จักเอาไว้ในน้ำก็กลัวหนาว
จักเอาไว้พื้นอากาศกลางหาว ก็กลัวหมอกเหมยซอนดาวลงมาขะลุ้ม
จักเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม ก็กลัวเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป
ก็เลยเอาไว้ในอกในใจ๋ตัวชายปี้นี้ จักหื้อมันไห้อะฮิอะฮี้ ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา...”
แปลว่า “ความรักของน้องนั้น พี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวเหน็บหนาว จะฝากไว้กลางท้องฟ้าอากาศกลางหาว
ก็กลัวเมฆหมอกมาปกคลุมรักของพี่ไปเสีย หากเอาไว้ในวังในคุ้ม เจ้าเมืองมาเจอก็จะเอาความรักของพี่ไป
เลยขอฝากเอาไว้ในอกในใจของพี่ จะให้มันร้องไห้รำพี้รำพันถึงน้อง ไม่ว่ายามพี่นอนหลับหรือสะดุ้งตื่น”
นอกจากภาพปู่ม่านย่าม่านแล้ว ภายในวิหารจตุรมุขนี้ยังมีภาพอื่นๆที่น่าสนใจอีกมากมาย ลองชมที่รูปภาพดูนะครับ
แอดมินมีเวลาจำกัดในการเข้าชมภาพวาดที่นี่ เนื่องจากติดภาระกิจหลายอย่าง โอกาสหน้าจะถ่ายภาพและร้อยเรียงเรื่องราวมาให้ครบเรื่องของ คัทธณะชาดก ให้รับชมครับ
ปล. ครั้งนี้ถ่ายภาพจาก Samsung Note 9 และรีบถ่ายมากๆ อย่างรวดเร็วเพราะต้องรีบไปทำภาระกิจต่อ
ต้องขออภัยแฟนเพจด้วยหากภาพออกมาไม่งดงามเท่าไหร่ครับ
Facebook : https://www.facebook.com/papaiwatofficial
Instragram : https://www.instagram.com/papaiwatofficial
Twitter : https://twitter.com/papaiwatthai