พาไปวัด
ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา (พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 28 ของอาณาจักรอยุธยา และเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์บ้านพลูหลวง )
โปรดให้สร้างวัดขึ้นที่พระนิเวศน์เดิมของพระองค์ในบริเวณที่เรียกว่า ย่านป่าตอง ภายในเขตกำแพงเมือง ระหว่างประตูไชยกับคลองฉะไกรน้อย
ด้วยทรงดำริว่าที่บ้านหลวง ย่านป่าตองนั้นเป็นที่มลคงอันประเสริฐ ควรจะสร้างพระอารามขึ้น ซึ่งทรงสร้างพระอุโบสถ วิหารต่างๆ
รวมถึงพระเจดีย์ กำแพงแก้ว กุฏิสงฆ์ ศาลาสะพาน เว็จกุฏิ ภายในวัดแห่งนี้ โดยใช้เวลาสร้างทั้งหมดสามปีเศษ และพระราชทานนามพระอารามนี้ว่า
"วัดบรมพุทธาราม" ซึ่งวัดบรมพุทธรามนี้เปรียบเสมือนวัดประจำราชวงศ์บ้านพลูหลวง อีกด้วย
วัดบรมพุทธรามนั้น สมเด็จพระเพทราชาทรงโปรดฯ ให้หมื่นจันทรา ช่างเคลือบกระเบื้องสีใช้กระเบื้องเคลือบสีเหลืองมุงหลังคาพระอุโบสถ วิหาร
ศาลาการเปรียญ รวมทั้งใช้ประดับเจดีย์และซุ้มประตู กลายเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นและเป็นที่มาของชื่อ วัดกระเบื้องเคลือบ
ที่คนนิยมเรียกชื่อวัดนี้กันในสมัยนั้น ครั้งหนึ่งในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงบูรณะวัดแห่งนี้ครั้งใหญ่ ได้โปรดเกล้าฯ
ให้จัดทำบานประตูประดับมุกอันงดงามขึ้น โดยประตูมุกทั้ง 3 บานนี้ปัจจุบันกระจัดกระจาย ไปเก็บรักษาไว้ยังสถานที่ต่างๆ
คู่หนึ่งอยู่ที่หอพระมณเฑียรธรรม ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อีกคู่หนึ่งอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
และอีกคู่อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร
ดูจากสิ่งปลูกสร้างที่หลงเหลืออยู่ในยุคปัจจุบันนี้แล้วทำให้ผมคิดไปได้ว่าสมัยก่อนนั้นวัดนี้คงมีความสำคัญมากๆ เป็นวัดขนาดใหญ่
พระอุโบสถของวัดตั้งอยู่บนฐานแอ่นโค้งเหมือนเรือสำเภาตามแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย ภายในประดิษฐานพระประธาน เป็นพระปางมารวิชัย
ก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศเหนือ ประดิษฐานอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูน อุโบสถประดับด้วยประตูซุ้มยอด และหน้าต่างซุ้มบรรพแถลงที่มีลายปูนปั้นที่งดงามมาก
ผนังสกัดด้านหน้าพระอุโบสถ ทำประตูซุ้มยอดเป็นประตูประธาน และขนาบทั้งสองข้างด้วยประตูซุ้มบรรพแถลง ซึ่งลักษณะการส้รางพระอุโบสถเช่นนี้
ปรากฎอีกที่คือ วัดกุฎีดาว ลองไปชมกันได้ครับ
ผมได้ถ่ายภาพลวดลายปูนปั้นอันงดงามที่ยังหลงเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้แบบละเอียดทุกจุดของวัดมาให้ชมกันนะครับ จะบอกว่าอ่อนช้อยงดงาม
สมกับเป็นงานช่างหลวงสมัยสมเด็จพระเพทราชาจริงๆ วัดบรมพุทธารามแห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยานะครับ ท่านใดว่างๆก็ขับรถมาชมกันได้ครับ
(ผมพยายามเก็บลวดลายต่างๆมาให้มากที่สุด เพราะไม่แน่ใจว่าระยะเวลาผ่านไปจะสึกหรอไปมากกว่านี้หรือไม่ และอยากให้ทุกๆท่านได้ชม
ได้สัมผัสศิลปกรรมอันสูงค่ายิ่ง ณ วัดบรมพุทธารามแห่งนี้ด้วยกันครับ)
Facebook : https://www.facebook.com/papaiwatofficial
Instragram : https://www.instagram.com/papaiwatofficial
Twitter : https://twitter.com/papaiwatthai