พาไปวัด
#วัดภุมรินทร์ราชปักษี (วัดร้าง) ภายในอุโบสถและวิหาร เปิดให้เข้าชมเฉพาะช่วงงานสำคัญเท่านั้น!!
วันนี้ผมเก็บทุกรายละเอียดแบบจัดเต็มมาให้ชมกันครับ
บริเวณใกล้ปากคลองบางกอกน้อย เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีมานานตั้งแต่สมัยอยุธยา
มีการตั้งบ้านเรือนและสร้างวัดขึ้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ถ้าใครขับรถผ่านไปผ่านมาแถวๆ
เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ก็คงจะเห็นโรงเรียนมัธยมวัดดุสิดาราม ผมอยากจะให้ทุกๆท่าน
ลองได้เลี้ยวรถเข้ามาในซอยทางที่จะไปวัดดุสิดาราม เมื่อเข้ามาแล้วทางขวามือของท่านจะเห็นอุโบสถ
และวิหารเก่าแก่ ตั้งตระหง่านอยู่ด้านข้างที่นั่นเคยเป็นวัดมาก่อนครับ แต่ปัจจุบันก็เป็นวัด(ร้าง)
ที่มีชื่อที่ไพเราะมากๆคือ "วัดภุมรินทร์ราชปักษี" ครับ
ประวัติการสร้างวัดภุมรินทร์ราชปักษีนั้นไม่มีหลักฐานที่ชัดแน่นอน แต่ข้อมูลจากวัดดุสิดาราม
มีระบุไว้ว่าในสมัยรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้นได้รวมวัดภุมรินทร์ราชปักษีแห่งนี้ยุบรวมเข้ากับวัดดุสิดาราม
เนื่องจากพบว่ามีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เพียงรูปเดียว
แม้ว่าปัจจุบันนี้วัดภุมรินทร์ราชปักษีจะเป็นวัดร้างก็ตาม แต่ภายในวัดมีสิ่งที่สำคัญ เป็นศิลปกรรมระดับช่างหลวงอยู่มาก
เราจะเห็นอุโบสถ และวิหาร ตั้งอยู่คู่กัน คั่นกลางด้วยหอไตรกลางน้ำขนาดย่อมๆ ทั้งอุโบสถและวิหารของวัดนั้นมีลักษณะคล้ายกันเลยครับ
ตอนแรกๆเมื่อได้เดินชมรอบๆก็แยกไม่ออกว่าหลังไหนคืออุโบสถ หลังไหนวิหาร แต่พอลองสังเกตดีๆ
เราจะพบว่าอาคารด้านทิศตะวันออกนั้นจะมีฐานเสมาล้อมรอบอยู่ ซึ่งอาคารหลังนี้ก็คืออุโบสถนั่นเองครับ ถ้าท่านใดมาก็ลองสังเกตกันดูนะครับ
อุโบสถหลังนี้สวยงามมากนะครับ ส่วนฐานโค้งแอ่นคล้ายเรือสำเภา ลักษณะแบบอยุธยาตอนปลาย ที่หน้าบันประดับปูนปั้นติดกระจก
ด้านบนสุดนั้นทำเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ถัดลงมาเป็นรูปนกยูงรำแพนหางสวยงามมาก
ซึ่งการประดับรูปนกยูงบนหน้าบันอุโบสถนั้นไม่ค่อยพบเห็นเท่าไหร่นะครับ เดินเข้าไปในอุโบสถจะพบพระพุทธรูปยืนสามองค์
ด้านหลังเจาะเป็นช่องลักษณะเป็นซุ้มประดิษฐานองค์พระ พระพุทธรูปยืนทั้งสามองค์นั้น องค์กลางสุดเป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ
องค์ด้านซ้ายของเราเป็นปางอุ้มบาตร และองค์ด้านขวาสุดเป็นปางถวายเนตร
ดูจากศิลปกรรมของพระพุทธรูปแล้วส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะมีผู้นำมาถวายในช่วงหลังนี้
ภาพจิตรกรรมฝาผนังต่างๆภายในอุโบสถนี้ หลุดล่อน เลือนหายออกไปมากแล้วครับ ผนังฝั่งตรงข้ามพระประธานเขียนภาพพระพุทธเจ้าผจญมาร
มีพระแม่ธรณีบีบมวยผมด้วย แต่จางหายไปจนเกือบหมดเป็นที่น่าเสียดายมากๆ
ถัดจากอุโบสถคือวิหาร ผนังด้านนอกทิศตะวันตกมีพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกกันว่า "หลวงพ่อดำ" สมัยก่อนเป็นสีดำทั้งองค์
แต่ปัจจุบันมีการบูรณะปิดทองทั้งอค์ทำให้พระกลายเป็นสีทองไปแล้ว หลวงพ่อดำองค์นี้ชาวบ้านที่นี่เล่ากันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก
มีปัญหาเดือดร้อนอะไรก็จะมาขอพรกันประจำ บริเวณหน้าบันด้านบนเหนือพระพุทธรูปมีลายปูนปั้นประดับรูปนารายณ์ทรงครุฑสวยงามดูแล้วเพลินตาจริง
เดินเข้าไปในวิหารจะพบความอลังการสวยงามของทั้งจิตรกรรม และองค์พระประธาน พระประธานนั้นเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
องค์พระนั้นเป็นศิลาแดงแกะสลักปัจจุบันมีการบูรณะปิดทองคำแท้ทั้งอค์ ด้านข้างทั้งสองมีพระอัครสาวกนั่งพนมมือ
ซึ่งจากลักษณะการแกะสลักพระด้วยศิลาแดงนั้น สามารถ specify ยุคสมัยขององค์พระได้ว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น - กลางเลยทีเดียว
และที่โดดเด่นเป็นที่สุดของวิหารหลังนี้ก็คือภาพเขียนสีจิตกรรมฝาผนังด้านหลังพระประธาน
ที่วาดเป็นรูปพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ภายหลังจากที่ทรงโปรดแสดงธรรมพระพุทธมารดา
ภาพจิตรกรรมที่ผนังสกัดตรงข้ามพระประธาน วาดเป็นรูปบ้านเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งไม่แน่ชัดว่าเปนเมืองๆใด
อาจจะเป็นหนึ่งฉากในพุทธประวัติก็เป็นได้ ส่วนผนังทั้งสองข้างนั้นวาดเป็สนรูปเทพชุมนุม นั่งประนมมือเรียงกันหันหน้าไปทางพระประธาน
อยู่เหนือช่องหน้าต่างของวิหาร เป็นภาพที่สวยงามเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจิตกรรมทั้งหมดนี้สันนิษฐานว่าวาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ - ๔ ด้วยรูปแบบการใช้สี
และเทคนิคการวาด ซึ่งในภาพจิตกรรมนั้นมีรูปอาคารแบบจีนผสมอยู่ด้วย และในบางรูปผมแอบสังเกตเห็นภาพของชาวต่างชาติผสมอยู่กับชาวบ้านของเรา
ซึ่งแน่นอนว่าเป็นที่นิยมวาดในสมัยร.๓ เรื่อยมานั่นเอง
เดินชมวัดกันมาถึงตรงนี้แล้วโดยส่วนตัวผมเองคิดว่าวัดภุมรินทร์ราชปักษีคงเคยสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเรื่อยมาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์
โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ รวมไปถึงบูรณะปรับปรุงมาโดยตลอด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวัดนี้แต่ก่อนคงไม่ใช่วัดสามัญธรรมดา
แต่จะต้องเป็นวัดที่มีความสำคัญมากๆอย่างแน่นอนครับ
ไปชมภาพสวยๆกันนะครับ ภาพเยอะสักหน่อย เพราะนานๆทางวัดจะเปิดให้เข้าชม ผมสร้างทำเป็นอัลบัมไว้ให้ชมกัน
ข้อมูลต่างๆถ้าผิดถูกอย่างไรก็ชี้แนะได้นะครับ ขอบคุณแฟนๆเพจทุกท่านที่เข้ามาชมครับ
Facebook : https://www.facebook.com/papaiwatofficial
Instragram : https://www.instagram.com/papaiwatofficial
Twitter : https://twitter.com/papaiwatthai